การศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่เข้าเรียนโดยวิธีโควตาและการสอบคัดเลือกของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่เข้าเรียนโดยวิธีโควตากับนักศึกษาที่เข้าเรียนโดยวิธีสอบคัดเลือกทั้ง 2 วิธีในแต่ละสาขาวิชา และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่เข้าเรียนโดยวิธีโควตากับวิธีสอบคัดเลือกทั้ง 2 วิธี เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามโดยมีประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ วิทยาเขตบพิตรพิมุข จักรวรรดิ ระดับปริญญาตรี 4 ปีภาคปกติ ที่เข้าเรียนโดยวิธีโควตาและสอบคัดเลือกทั้ง 2 วิธี ในปีการศึกษา 2546 จำนวน 239 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวและสองทาง และสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า
1. นักศึกษาในแต่ละสาขาวิชาของคณะบริหารธุรกิจ จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่างกัน แต่ถ้าพิจารณาจากประเภทของนักศึกษาที่สอบคัดเลือกโดยวิธีโควตา สอบตรง และสอบรวม ของทุกสาขาวิชา จะพบว่ามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกัน โดยนักศึกษาที่สอบคัดเลือกโดยวิธีสอบรวม(ผ่านสกอ.) จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าวิธีสอบตรง หรือกล่าวได้ว่านักศึกษาที่สอบคัดเลือกโดยวิธีสอบตรงจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำที่สุด และแตกต่างจากนักศึกษาที่สอบคัดเลือกโดยวิธีสอบรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
2. ปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่แตกต่างกันของนักศึกษาที่เข้าเรียนโดยวิธีโควตา ได้แก่ ความคิดเห็นที่ว่ารายวิชามีเนื้อหาเหมาะสมกับเวลาเรียน และความถี่เฉลี่ยในการเข้าชั้นเรียน จะมีความสัมพันธ์ในทางบวก
3. ปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่แตกต่างกันของนักศึกษาที่เข้าเรียนโดยวิธีสอบตรง ได้แก่ เพศ การทบทวนบทเรียนก่อน การท่องเที่ยวสถานบันเทิงเริงรมย์ การลงทะเบียนเรียนซ้ำในวิชา ความถี่เฉลี่ยในการเข้าชั้นเรียน และจำนวนชั่วโมงที่ทบทวน
4. ปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่แตกต่างกันของนักศึกษาที่เข้าเรียนโดยวิธีสอบรวม ได้แก่ เพศ อายุ การทำงานหารายได้ระหว่างเรียน การเข้าห้องสมุด การเที่ยวสถานบันเทิงเริงรมย์ การลงทะเบียนเรียนซ้ำในวิชาเดียวกัน การถูกอาจารย์ตำหนิขณะสอน ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตารางเรียน การสร้างแรงจูงใจของอาจารย์ รายได้ที่ได้รับจากผู้อุปการะ ความถี่ในการเข้าชั้นเรียน จำนวนชั่วโมงที่ทบทวนก่อนสอบ จำนวนครั้งในการไปเที่ยวผับ จำนวนครั้งในการไปดูภาพยนตร์หรือการแสดงดนตรี